success of tarutao โจรสลัดแห่งตะรุเตา ฉบับที่23 เบื้องหลังนิยายโจรสลัดแห่งตะรุเตา

"จดหมายจากตะรุเตา ฉลองครบรอบสามทศวรรษ"ของบุญเสริม ฤทธาภิรมย์
ฉบับที่23 เบื้องหลังนิยายโจรสลัดแห่งตะรุเตา
 บ้านภิรมย์สุข ถนนยาตสวัสดีสตูล ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑

 คุณกิ่งกานต์ครับ เรื่อง The Pirates of Tarutao เป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นไทยว่า โจรสลัดแห่งตะรุเตา อาศัยเค้าเรื่องโจรสลัด แห่งเกาะตะรุเตา
 ผูกเรื่องให้มีพระเอก นางเอก ผู้ร้ายครบถ้วน
 ที่แปลกคือพระเอกเป็นชาวอังกฤษ ผู้ร้ายเป็นอเมริกัน นางเอกเป็นสาวชาวเล
 คุณติดตามอ่านจดหมายมาหลายฉบับแล้ว คงทราบเรื่องจริงแล้วว่าเป็นอย่างไร ผมมีความจำเป็นต้องเล่าเบื้องหลังนิยาย
เรื่อง โจรสลัดแห่งตะรุเตา ของคุณ ปองพล อดิเรกสาร หรือนามปากกาว่า พอล อดิเรก (Paul Adirex) เพื่อคุณจะได้ทราบที่มาของหนังสือเล่มนี้ และเค้าโครงเรื่อง เท่าที่ผมพอจะเล่าได้ เพื่อคุณจะได้เปรียบเทียบกับเรื่องจริง ว่าแตกต่างกันอย่างไร
คุณปองพล อดิเรกสาร เป็นบุตรชายของ พล.ต.อ. ประมาณ อดิเรกสารเป็นนักการเมืองชื่อดังจากจังหวัดสระบุรี เคยได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. จังหวัดสระบุรีมาหลายสมัย ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำคัญมาหลายตำแหน่ง เช่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
 ผมขอเล่าถึงที่มาของการเขียนนิยายเรื่องนี้
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ คุณปองพล อดิเรกสารกลายเป็น ส.ส. สอบตก ออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ไปพักผ่อนที่จังหวัดสตูล
ชื่นชมธรรมชาติรอบหมู่เกาะอาดัง-ราวี เดินทางต่อไปยังเกาะตะรุเตา ทราบเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของเกาะตะรุเตาเป็นอย่างดี ขณะเดินทางกลับกรุงเทพ ฯ เกิดความคิดแว่บขึ้นมาในใจ อยากแต่งนิยายโจรสลัดแห่งเกาะตะรุเตา เพื่อเผยแพร่เรื่องนี้ออกสู่ระดับสากล
ไม่ใช่รู้กันในหมู่คนไทยเท่านั้น ปะเหมาะห์เคราะห์ดีอาจมีบริษัทฝรั่งนำนิยายเรื่องนี้ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฉายไปทั่วโลก เกาะตะรุเตาจะมีชื่อเสียงโด่งดังกว่านี้ เป็นความคิดก้าวไกลของนักการเมืองคนหนึ่ง
เมื่อกลับถึงบ้าน ก็ได้เล่าเรื่องนี้ให้ภรรยาฟัง ก็ได้รับการสนับสนุน ให้กำลังใจจากภรรยา การเขียนนิยายเป็นภาษาอังกฤษถือเป็นเรื่องท้าทายมาก ประกอบกับตนเองเคยศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกามาก่อน พื้นฐานภาษาอังกฤษในระดับดี จึงตัดสินใจเขียนนิยายเรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษ หลังจากตัดสินใจเขียนนิยายเป็นภาษาอังกฤษ ก็ต้องรีบค้นคว้าหาข้อมูลทันที
 โชคดีตรงที่ว่าบิดาของท่านคือ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร ชอบสะสมหนังสือเก่าไว้จำนวนมากมายนับพันเล่มท่านก็ค้นพบหนังสือเกี่ยวกับตะรุเตาหลายเล่มในตู้หนังสือ คุณปองพลกล่าวว่า

 “ ทันทีที่ผมเห็นหนังสือเหล่านั้น ผมขนลุกเลย ถ้าเป็นโบราณก็ต้องบอกว่าผีบอกให้ทำ ทำไม ผมไม่ตรงไปที่ตู้อื่นล่ะ ทำไมไม่หยิบหนังสือเล่มอื่นล่ะ ผมหยิบหนังสือเหล่านั้นอย่างง่ายดาย มันเหมือนผีสิงอยู่ สั่งให้ผมทำ”

 หลังจากนั้นคุณปองพล อดิเรกสารได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมที่กรมราชทัณฑ์ เพราะหลักฐานต่าง ๆ ยังเก็บไว้ที่นั่น มีโอกาสได้พบกับอดีตผู้คุมสองคน อายุร่วม ๘๐ ปีแล้ว ผู้คุมทั้งสองได้เล่าถึงสาเหตุว่าทำไมขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์และผู้คุมบางคนต้องกลายเป็นโจรสลัด

 เนื่องจากว่า สมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา เกิดภาวะขาดแคลนอาหารการกิน นักโทษอดอยาก
ขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์เดินทางมาขอคำปรึกษาจากทางกรมราชทัณฑ์ ขอความช่วยเหลือด้านงบประมาณ แต่ได้รับการปฏิเสธอย่างไม่ใยดี มิหนำซ้ำทางเบื้องบนตำหนิว่าไม่รู้จักแก้ปัญหา ดูแลลูกน้องไม่ได้ กลับจังหวัดสตูลด้วยจิตใจห่อเหี่ยว เล่าให้ลูกน้องฟัง เมื่อทางกรุงเทพ ฯ ไม่ช่วยเหลือ ทางออกก็คือการเป็นโจรสลัดดังกล่าวมาแล้ว นี่คือความจริงข้อหนึ่ง กลายเป็นที่มาของนิยายโจรสลัด

 ขั้นตอนต่อมา คือการวางพล็อตเรื่อง คุณปองพล อดิเรกสาร กำหนดเหตุการณ์ของเรื่องเกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๘๗ สมัยรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์
 ญี่ปุ่นบุกมลายูได้สำเร็จ จับทหารอังกฤษเป็นเชลยได้จำนวนมาก เนื่องจากสมัยนั้นอังกฤษปกครองมลายูและสิงคโปร์อยู่ก่อน
ญี่ปุ่นส่งทหารอังกฤษไปสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว ที่จังหวัดกาญจนบุรี บังเอิญมีทหารอังกฤษ ๘ คนกับชาวอเมริกันอีก ๑ คน ติดอยู่บนเกาะลังกาวี เพิ่งถูกจับกุมได้ภายหลัง
ญี่ปุ่นไม่ทราบว่าจะส่งไปไหน เลยปรึกษากับทางฝ่ายไทยซึ่งเป็นพันธมิตรญี่ปุ่นเวลานั้น แนะนำให้ส่งไปคุมขังที่เกาะตะรุเตาแทน อยู่ในการปกครอง ดูแลของนิคมฝึกอาชีพตะรุเตา
 มีขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์ เป็นหัวหน้า นักโทษชาวตะวันตกพบกับนักโทษการเมือง เช่น

หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร หลวงมหาสิทธิโวหาร และคนอื่น ๆ ผู้ร้ายซึ่งเป็นชาวอเมริกันคิดวางแผนจะมีที่ดินบนเกาะลังกาวี ขอคำปรึกษาจากหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร เพราะทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรม
นักโทษชาวตะวันตกได้ช่วยเหลือหลวงมหาสิทธิโวหาร หรือ สอ เสถบุตร ในการเรียบเรียงหนังสือพจนานุกรมด้วย ถือเป็น ความผูกพันระหว่างนักโทษการเมืองกับนักโทษชาวตะวันตก

 สำหรับนางเอกชื่อว่า มาลาตี เป็นลูกสาวของนายหมี ศรีวิโรจน์ ได้รับความช่วยเหลือจากนักโทษการเมือง ๕ คน ส่งไปเรียนหนังสือที่ปินัง เป็นการตอบแทนที่ช่วยให้นักโทษทํ้งห้าหนีไปขึ้นฝั่งเกาะลังกาวีได้ ตาหมีได้อพยพไปอยู่ที่ปินังพร้อมลูกสาว
 มีการผูกเรื่องให้มาลาตีชอบพอกับพระเอกซึ่งเป็นทหารอังกฤษ ซึ่งถูกกักตัวอยู่ที่ตะรุเตา พระเอกต่อต้านการปล้นสะดมของโจรสลัด พยายามหาทางช่วยเหลือพ่อค้าเรือ และคิดกำจัดขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์และโจรสลัด โดยมีชาวอเมริกันเป็นผู้ร้ายร่วมกระบวนการโจรสลัดด้วย

 เรื่องจบลงแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง พระเอกทหารอังกฤษได้แต่งงานกับมาลาตี ลูกสาวตาหมีซึ่งเป็นลูกครึ่งชาวเล ผู้ร้ายตายเรียบ ขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์และสมุนถูกจับเข้าคุกตามระเบียบ
 ถ้านำนิยายเรื่องไปสร้างเป็นภาพยนตร์ คงสนุก ตื่นเต้นชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบแน่เชียว ผมจึงไม่อยากจะเล่าเรื่องอย่างละเอียดให้คุณกิ่งกานต์ทราบ เกรงไปว่าจะหมดรสชาด ถ้าคุณกิ่งกานต์ไม่ถนัดภาษาอังกฤษลองหาฉบับภาษาไทยมาอ่านก็ได้นะ มีคนแปลนิยายเรื่องนี้เป็นภาษาไทยแล้ว คงได้อรรถรสสมบูรณ์ ไม่ต้องเสียเวลาแปลอังกฤษเป็นไทยอยู่อีก
 นี่คือเบื้องหลังของหนังสือ โจรสลัดแห่งตะรุเตา ของคุณปองพล อดิเรกสาร ท่านมีส่วนช่วยประชาสัมพันธ์จังหวัดสตูลได้ดีในระดับหนึ่ง หนังสือเล่มนี้วางจำหน่ายในต่างประเทศด้วย คาดว่าชาวต่างชาติคงซื้อไปอ่านกันมากทีเดียว ชาวตะวันตกได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ชอบการอ่านเป็นนิสัย ก็ภาวนาอยู่ว่าขอให้บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูดนำนิยายเรื่องนี้ ไปสร้างเป็นภาพยนตร์โดยเร็ว จังหวัดสตูลจะดังเป็นพลุแตก เกาะตะรุเตาจะเป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก ผู้คนจะแห่กันไปเที่ยวที่จังหวัดสตูล รายได้จากการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เป็นผลดีด้วยกันทุกฝ่าย ผมก็คิดฝันไปเช่นนั้น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Satun Unesco Global Geopark อุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูล สถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก แห่งแรกของไทย

masjid in satun มัสยิดธรรมประทีปห้วยน้ำดำ