PIRATE OF TARUTAO ตำนานโจรสลัดตะรุเตา "เมื่อนรกและสวรรค์เดินสวนทางกันที่ตะรุเตา" ใน จดหมายจากตะรุเตา

"จดหมายจากตะรุเตา ฉลองครบสามทศวรรษ"
ของบุญเสริม ฤทธาภิรมย์
 ฉบับที่14 เพื่อนสลัดถูกสวมรอย
บ้านภิรมย์สุข ถนนยาตราสวัสดี สตูล ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๑

คุณกิ่งกานต์ครับ ขณะที่โจรสลัดกำลังอาละวาดหนักเหนือน่านน้ำตะรุเตา
เป็นที่หวาดผวาของพ่อค้าเรือและลูกเรือ ทั้งของไทยและชาวต่างชาติ
 เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น นั่นคือ
มีโจรก๊กอื่นฉวยโอกาสหรือสวมรอยร่วมปล้นสะดมด้วย ก็เหมือนผีซ้ำด้ามพลอยไม่มีผิด
 ลำพังโจรสลัดตะรุเตาก็สร้างปัญหาแสนสาหัสสากรรจ์แล้ว แล้วกลับมีโจรก๊กอื่นผสมโรงด้วยหรือนี่ ได้แก่ โจรมลายู จากรัฐปะลิสและเคดะห์ และอีกกลุ่มหนึ่งคือโจรชาวประมงไทยชายฝั่ง
 ไม่ว่ามีการปล้นสะดมกันที่ไหนและเมื่อไหร่ในทะเล เป็นที่รู้ ๆ อยู่แล้วว่าเป็นฝีมือของสลัดตะรุเตา แท้จริงแล้วยังมีโจรก๊กอื่นเข้ามาสวมรอย ดังเช่นโจรมลายู โจรชาวประมงไทยก็มี
โจรสลัดตะรุเตาจึงกลายเป็นแพะรับบาปไปอย่างช่วยไม่ได้ อย่างไรก็ตาม
 ไม่ว่าโจรก๊กไหนออกปล้นสะดม ถือว่าเป็นไปตามวิถีทางของพวกมิจฉาชีพ โจรก็คือโจร
เป็นกลุ่มคนที่คิดมิชอบ พื้นฐานจิตใจต่ำทราม ชอบเบียดเบียนผู้อื่นโดยสันดาน
โจรเป็นศัตรูคู่อาฆาตกับตำรวจฐานะผู้ปราบโจร บุคคลสองกลุ่มอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันไม่ได้

 คุณกิ่งกานต์เชื่อไหมครับ .....ในยุคโจรสลัดตะรุเตาครองเมืองนั้น
ตำรวจที่มีหน้าที่ปราบโจรกลายเป็นผู้ร้ายไปแล้ว นั่นคือมีตำรวจบางคนเข้าร่วมขบวนการปล้นสะดมกับเขาด้วย เรื่องราวยิ่งไปกันใหญ่แล้วนะเนี่ยะ.....อย่าหาว่าผมปรักปรำกรมตำรวจเลยนะครับ
ตำรวจดีมีอยู่ถมไปทั่วแผ่นดินไทย แต่ตำรวจเลวบางคนกลับไม่รักศักดิ์ศรีของเครื่องแบบ เหตุเกิดขึ้นที่เกาะตะรุเตาอีกนั่นแหละ เรื่องนี้ผมมีประจักษ์พยานจากคำบอกเล่าของ

คุณเอนก ปะลาวัน อดีตบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนจังหวัดสตูล เล่าให้ผมฟังว่าในวัยหนุ่มท่านเคยรับราชการเป็นเสมียนมหาดไทย
 เหตุการณ์เกิดขึ้นราวปี พ.ศ.๒๔๘๘ เป็นปลายสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา จังหวัดสตูลขาดแคลนข้าวสารอย่างหนัก
 คุณเอนก ปะลาวันได้รับคำสั่งจากจังหวัดให้ไปคุมเรือข้าวสารที่ท่าเรือกันตัง จังหวัดตรัง
 โดยใช้เรือยนต์ขนาดใหญ่บรรทุกข้าวสารได้นับร้อย ๆ กระสอบ เพื่อนำมาปันส่วนให้แก่ประชาชน ท่านได้ไปปฏิบัติหน้าที่นี้หลายเที่ยว เหตุการณ์ปกติไม่มีอะไรเกิดขึ้น คลาดแคล้วจากการังควาญของโจรสลัด มีหลักฐานอัปยศเป็นฝีมือของสลัดสีกาสีอีกกรณีหนึ่ง

ราวกลางปี พ.ศ.๒๔๘๘ สงครามมหาเอเชียบูรพาใกล้สงบแล้ว เมื่อ ร.ต.ท.สวัสดิ์ บัวบาน ตำรวจมือปราบจากจังหวัดสตูล ร่วมกับ ส.ต.ท.ชั้น ครับ....

.โจรสลัดตะรุเตาเจ้าเก่าถูกมือดีถูกสวมรอยเสียแล้ว
 น่านน้ำรอบเกาะมหานรกกลายเป็นรังโจรห้าร้อย หรือ จ.ห.ร.ไปตั้งแต่เมื่อไหร่
แต่ที่รู้คือเกิดเหตุร้ายขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน บอกไม่ได้ว่าเป็นฝีมือของโจรก๊กไหน
ชาวประมงออกหาปลากลางทะเล ได้โอกาสก็ปล้นเรือสินค้า
 ตำรวจแปลงโฉมเป็นสลัดสีกากีตามโอกาส ส่วนโจรนักโทษเจ้าเก่าขนานแท้ ไม่ต้องพูดถึงกันละ
เขาเป็นใหญ่เหนือโจรก๊กอื่นอยู่แล้ว จึงเป็นการยากที่จะปราบโจรสลัดให้ราบคาบ
 ตำรวจเมืองสตูลยุคนั้นไม่มีน้ำยาก็ว่าได้ สตูลกลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแปไปแล้วหรือ ทะเลรอบเกาะตะรุเตาคละคลุ้งด้วยกลิ่นคาวเลือด

เสียงคลื่นลมระคนด้วยเสียงปืน ชีวิตคนมีราคาถูกว่ากระสุนนัดเดียว
ฉลามร้ายฮึกเหิมได้ใจ เพราะได้กินเหยื่อไม่ต้องล่าให้เหนื่อยแรง เป็นลาภปากของมันแท้ ๆ
นรกกำลังบรรเลงเพลงโหดกลางทะเล

ขณะที่บนบกคนกลุ่มหนึ่งได้ยินเสียงเพลงสวรรค์ไพเราะซาบซ่านอยู่ในรูหู ผู้มีส่วนพัวพันกับการค้าของโจรร่ำรวยกันอื้อซ่า สร้างมิจฉาอาชีพให้คนมากหน้า การเงินหมุนเวียนดีขึ้น ทั้ง ๆ ที่อยู่ปลายสมัยสงคราม เศรษฐกิจค่อนข้างฝืดเคือง แต่คนบางกลุ่มกลับร่ำรวยมีเงินทองใช้จ่ายกันเหลือเฟือ เพราะเงินหามาง่ายจึงใช้คล่องมือ
บ่อนการพนันเปิดขึ้นชุกชุมในตลาดย่านถนนบุรีวานิช เจ้ามือรายใหญ่เล่นการพนันโดยไม่ต้องนับเงินสด ใช้วิธีการเอาธนบัตรประเภทและราคาเดียวกันมาซ้อนเข้า แล้วใช้เหล็กหรือของหนักทับ กะให้ความสูงเท่ากัน ใช้แทงจ่ายกันในวงไพ่ เวลาพวกเขามีค่าเหลือเกิน ไม่อยากเสียไปแม้กระทั่งการกรีดนิ้วนับธนบัตรแต่ละใบ ขาดเหลือเท่าไหร่ถือว่าหยวน ๆ น่ะ ไว้วางใจกัน

 คุณกิ่งกานต์เห็นไหมครับ สลัดตะรุเตาเป็นต้นกำเนิดของความชั่วร้ายมากมาย นับตั้งแต่การปล้นสะดมพ่อค้าเรือ เข่นฆ่าเจ้าทรัพย์ กำเนิดสินค้าเถื่อน บ่อนการพนันเต็มเมือง ล้วนผิดกฎหมายทั้งสิ้น แล้วบ้านเมืองจะอยู่กันได้อย่างไร
ผมเล่าถึงตอนนี้ ….. คุณกิ่งกานต์คงนึกภาพเมืองสตูลไม่ออก
 อยากจะเปรียบว่าสตูลก็ไม่ต่างจากลำพูนเท่าใดนัก คือเป็นจังหวัดเล็กขนาดก็ไล่เลี่ยกัน
เขตตลาดหรือย่านธุรกิจอยู่บนถนน ๒-๓ สายเท่านั้น
ย่านใจกลางเมืองคือสองข้างถนนบุรีวานิช ที่มีต้นมะขามปลูกไว้กลางถนน

ปลายสมัยสงคราม มหาเอเชียบูรพาเศรษฐกิจกลับเฟื่องฟูขึ้น มีการสร้างอาคารร้านค้าเพิ่มขึ้นหลายหลัง ตามแบบอาคารที่สร้างกันไว้ก่อนคือ
 แบบจีนผสมโปรตุเกส (Chino Portuguese) ทรงเดียวกับบ้านพ่อค้าชาวจีนในปีนัง คือมีเสาใหญ่ ๆ อยู่ด้านหน้า มีช่องทางเดินหน้าร้าน
 อาคารที่ต่อเติมหรือสร้างขึ้นใหม่จึงมีอายุมากกว่า ๖๐ ปีแล้ว น่าเสียดาย ทุกวันนี้ อาคารส่วนใหญ่ถูกรื้อถอน ดัดแปลงเป็นอาคารสมัยใหม่เกือบหมดแล้ว

 เรื่องราวโจรสลัดยังไม่จบหรอกครับ มีเรื่องเล่าให้ฟังอีกแยะเชียว พอเขียนถึงบรรทัดนี้ เหลือบดูนาฬิกาเห็นว่าเกือบสองยามเข้าให้แล้ว ต้องขอตัวเข้านอนก่อน ชักง่วงเต็มที ค่อยคุยกันใหม่นะครับ
 ด้วยความระลึกถึงเสมอ พงษ์สันต์  ตอนที่3

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Satun Unesco Global Geopark อุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูล สถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก แห่งแรกของไทย

masjid in satun มัสยิดธรรมประทีปห้วยน้ำดำ