ภาพรวมทางภาษาและวัฒนธรรมของอินโดนีเซียและมาเลเซีย ในบริบทประชาคมอาเซียน ตอนจบ

ภาษา-วรรณคดี และศิลปวัฒนธรรม จากภูมิหลังทางด้านภาษา ศาสนา ชาติพันธุ์ และภูมิศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น จึงไม่แปลกที่ทั้งประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียจะมีลักษณะร่วมกันหลายอย่าง โดยเฉพาะเมื่อประชากรส่วนใหญ่ของทั้งสองประเทศ ยังนับถือศาสนาเดียวกันด้วย นั่นคือศาสนาอิสลาม ทางด้านภาษา ทั้งสองประเทศต่างใช้ภาษาที่มีต้นธารมาจากภาษามลายูดังกล่าวแล้ว (โปรดดู ตอนที่ 1) และเนื่องจากทั้งสองประเทศมีลักษณะเป็นหมู่เกาะ ภาษาและวรรณคดีจึงมีความคล้ายคลึงกันเป็นอันมาก สังเกตจากนิทานพื้นบ้านและตำนานโบราณของทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านแก่นเรื่อง ฉาก ภูมิหลังตัวละคร นิสัยใจคอ การรักการผจญภัย การเดินทาง การแสวงหาถิ่นฐาน ฯลฯ วิถีชีวิตและอาชีพ (การค้า การประมง การหาของป่า การทำนาทำไร่ ฯลฯ) ซึ่งผูกพันอยู่กับทะเล แม่น้ำ เกาะแก่ง ทุ่งนา และป่าเขาลำเนาไพร ฯลฯ ในเรื่องศิลปะการแสดงและวัฒนธรรมประเพณีนั้นเล่า มาเลเซียและอินโดนีเซีย มีลักษณะร่วมกันอย่างมาก เป็นต้นว่า ศิลปะการละเล่น เช่น วายัง (Wayang) หรือหนังตลุง ดนตรี เครื่องแต่งกาย ผ้า เครื่องมือเครื่องใช้ในการยังชีพและอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ ศิลปะการแสดงและวรรณกรรม โดยเฉพาะนิทานพื้นบ้านจำนวนมาก ก่อนหน้าอิสลาม จะเน้นในเรื่องคุณธรรมพื้นๆ เป็นต้นว่า คุณธรรมในเรื่องของความซื่อสัตย์ ความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การไม่ละโมบโลภมาก ความยับยั้งชั่งใจ ความกล้าหาญ ความอดทนและความเสียสละ ดูเหมือนจะเป็นแก่นเรื่องที่ปรากฏอย่างโดดเด่น

 ภาษาและวรรณคดีสมัยใหม่ นอกจากภาษามลายู หรือภาษามาเลย์ที่ใช้ร่วมกันแล้ว จากประสบการณ์ที่ทั้งสองประเทศต่างก็เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกที่แตกต่างกัน (มาเลเซียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในขณะที่อินโดนีเซียเป็นอาณานิคมของฮอลันดาหรือดัตช์) การใช้ภาษาต่างประเทศหรือภาษาที่ 2 ในยุคอาณานิคม รวมทั้งที่ยังหลงยุคสืบทอดมาจนทุกวันนี้ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ (สำหรับพลเมืองมาเลเซีย) และภาษาดัตช์ (สำหรับพลเมืองอินโดนีเซีย) อิทธิพลทางด้านภาษาจากเจ้าอาณานิคมดังกล่าวนี้ ทำให้วรรณคดีสมัยใหม่ซึ่งเขียนในภาษามลายูมาเลเซีย และภาษามลายูอินโดนีเซียมีลักษณะที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก กล่าวคือในภาษาอินโดนีเซีย ปรากฏศัพท์แสงภาษาดัตช์ปะปนอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในผลงานวรรณกรรมที่อาศัยฉากหรือภูมิหลังยุคอาณานิคม เช่น นวนิยายชุด Bumi Manusia (4 เล่มชุด) เขียนโดย ปรามุดยา อนันตา ตูร์ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อหลายปีก่อน แม้แต่งานร่วมสมัยเช่นนวนิยายเรื่อง Lashkar Pelangi (นักรบสายรุ้ง) นวนิยายเยาวชนรางวัลยอดเยี่ยมแห่งปีที่อ่านสนุกมาก (ชมได้จาก youtube) ผู้อ่านที่ไม่มีพื้นความรู้ภาษาดัตช์เลยจะประสบปัญหาในการอ่านค่อนข้างมาก ส่วนในภาษามาเลเซีย มีการใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษจำนวนมาก สำหรับนักอ่านทั่วไปการอ่านวรรณกรรมมาเลเซียสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายกว่ามาก เนื่องจากคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษเข้าใจกันในวงกว้างมากกว่าภาษาดัตช์ นอกจากภาษาดัตช์ ภาษามลายูอินโดนีเซียยังมีคำศัพท์ภาษาพื้นเมืองของอินโดนีเซียโดยเฉพาะภาษาชวา ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองที่พูดกันมากที่สุดบนเกาะชวาปะปนอยู่จำนวนไม่ใช่น้อย ทำให้ผู้ที่ไม่รู้ภาษาชวา ประสบปัญหาในการอ่านหรือสื่อสารด้วยภาษามลายูอินโดนีเซีย (ที่มีภาษาท้องถิ่นปะปนอยู่ด้วย) ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ทั้งภาษามลายูอินโดนีเซียและภาษามลายูมาเลเซียยังรุ่มรวยด้วยถ้อยคำภาษาสันสกฤตจำนวนมาก เนื่องจากความสัมพันธ์อันใกล้ชิดแต่ครั้งโบราณกาล ในขณะที่ภาษามลายูมาเลเซียยังมีคำยืมจากภาษาทมิฬอีกจำนวนหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ฝรั่งชาติตะวันตกเรียกหมู่เกาะแถบนี้ว่า อินเดียตะวันออก (East Indies) ตั้งแต่แรกเริ่มรู้จักหมู่เกาะนี้แล้ว อินเดียกับหมู่เกาะแถบนี้มีความสัมพันธ์ทั้งในแง่การค้า ศาสนาและศิลปวัฒนธรรมมายาวนานนับพันปี เรียกได้ว่า ชาวเกาะเหล่านี้นับถือศาสนาดั้งเดิมของตนแบบผสมปนเปกับศาสนาจากชมพูทวีป ทั้งพุทธ (นิกายมหายาน) และฮินดู ซึ่งต่างก็ใช้ภาษาสันสกฤตในการบันทึกพระคัมภีร์ ด้วยเหตุนี้ถ้อยคำในภาษาสันสกฤตและภาษาทมิฬจึงเข้ามาปะปนอยู่จำนวนไม่น้อยในภาษาพื้นเมือง และบ่อยครั้งเข้ามาแทนที่คำภาษาพื้นเมืองและภาษามลายูดั้งเดิมหลายๆ คำ นักศึกษาไทยซึ่งเคยชินกับคำภาษาบาลี-สันสกฤตซึ่งปรากฏอยู่ในภาษาไทย จะรู้สึกคุ้นเคยหรือมักคุ้นกับคำทับศัพท์ภาษาสันสกฤตในภาษามลายู ทำให้จดจำได้ง่าย การเรียนรู้ภาษามาเลย์-อินโดนีเซียจึงง่ายขึ้นอีกก่ายกอง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนด้วย ตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมา ประชากรในหมู่เกาะมลายู-อินโดนีเซียหันมานับถือศาสนาอิสลามเกือบทั้งหมด จึงมีถ้อยคำสำนวนภาษาอาหรับเข้ามาปะปนอยู่ในภาษาทั้งสองมากมาย สำหรับพลเมืองอิสลามิกชนของทั้งสองประเทศ ซึ่งบรรพบุรุษนับถือพุทธและฮินดูมาก่อน แม้เมื่อหันมานับถือศาสนาอิสลาม ก็ไม่มีอุปสรรคในการสื่อสารและการอ่านวรรณคดีของกันและกัน แต่จะมีปัญหาไม่น้อยสำหรับนักอ่านชาวไทยที่นับถือศาสนาต่างกัน


2-4 ป้ายเขียนเป็นภาษาชวาและ 'บาฮาซาอินโดนีเซีย' บอกที่ตั้งอาคาร ภายในบริเวณที่ทำการเทศบาลนครสุระการ์ตา ยอร์กยา (ถ่ายปลายปี 2555 ช่วงไปเยี่ยมนายกเทศมนตรีสุระการ์ตา "จาโกวี" / ปัจจุบันผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษนครจาการ์ต้า ถ่ายโดยผู้เขียน)

การเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ถือเป็นประเทศผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซียนมาด้วยกัน โดยปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ซึ่งมีการลงนามที่วังสราญรมย์เมื่อ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 จาก ความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างกันจนกระทั่งปัจจุบันนี้ จึงนับว่ามิตรภาพภายใต้ประชาคมอาเซียน จะมีความมั่นคงยั่งยืนอย่างยิ่ง กล่าวได้ว่าในอนาคตตอันใกล้นี้ ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไนดารุสสลาม ฯลฯ จะมีการพึ่งพากันและกันและสนิทแนบแน่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะทางด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภายใต้เจตนารมณ์ของกฎบัตรอาเซียน เชื่อว่าภูมิภาคนี้จะกลายเป็นอาณาบริเวณแห่งสันติภาพ ภราดรภาพ และความมั่งคั่ง ประชาชนในประชาคมอาเซียนจะมีความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้อง ซึ่งพร้อมจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติและอื่นๆ ภายใต้ธงนำของความร่วมมือจาก 3 เสาหลักในบริบทของอาเซียน อันได้แก่ ความเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community–AEC) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community–ASCC) และประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community–APSC) เมื่อคราวที่ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปอินโดนีเซียในฐานะล่ามภาษาอินโดนีเซียเมื่อปลายปี 2555 (ช่วงน้ำท่วมใหญ่ภาคกลาง) ได้มีโอกาสพบปะนักศึกษาไทยจาก 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนักศึกษาแลกเปลี่ยนระหว่างสถาบันการศึกษาของทั้งสองประเทศ และนักศึกษาที่ได้รับทุนการศึกษาจาก ศอ.บต. ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและโทที่อินโดนีเซีย ทราบว่ามีจำนวนหลายสิบคนกระจายกันเรียนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำให้มั่นใจว่า มีความกระตือรือร้นทั้งในหมู่นักศึกษา สถาบันการศึกษาและรัฐเอง ที่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมมลายู-อินโดนีเซียอย่างลึกซึ้ง น่าดีใจที่ผู้เขียนในฐานะผู้สอนภาษามลายู-อินโดนีเซีย ได้เห็นความพยายามในการเตรียมบุคลากรในประเทศของเรา เพื่อรับมือกับประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลักในอีกประมาณปีเศษๆ ข้างหน้าอย่างทันท่วงที

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Satun Unesco Global Geopark อุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูล สถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก แห่งแรกของไทย

masjid in satun มัสยิดธรรมประทีปห้วยน้ำดำ