ตำนานหลวงพ่อกัน โดยลูกบุญธรรม นามว่า งอบ ตอนที่1 จุดเริ่มต้น

ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติของข้าพเจ้าเอง ที่ใช้นามแฝงว่า"งอบ"
ตามนามเรียกขานของบิดามารดาของข้าพเจ้า ที่ใช้เรียกมานับตั้งแต่ข้าพเจ้าจำความได้ประมาณ2-3ขวบ
 ข้าพเจ้าเกิดปีมะเส็ง เดือน7 ขึ้น7ค่ำ วันจันทร์ พ.ศ.2484 เรียกว่าเกิดใน สมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา

ปลายสงครามโลกครั้งที่2 ตอนที่ญี่ปุ่นขอผ่านประเทศไทย เนื่องในการทำสงครามร่วมกับประเทศเยอรมันนีเพื่อยึดครองโลก

โดยวางแผนตีผ่านเอเชียและยุโรปไปพบกันแถวๆประเทศรัฐเซีย
ตอนที่ญี่ปุ่นผ่านคราวนั้นก็เป็นสมัยที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม(จอมพลแปลก)เป็นนายกรัฐมนตรีของไทย
ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อหาทางเอาประเทศชาติรอดจากภัยสงคราม
แต่ผลจากการตัดสินใจจากคำถามของนายกรัฐมนตรีว่า พวกเราจะตายวันนี้หรือวันพรุ่งนี้ดี 
ความหมายก็คือ จะสู้หรือจะยอมให้ผ่านดี ผลปรากฎว่ายอมให้ญี่ปุ่นผ่านก่อนดีกว่า แล้วค่อยหาทางแก้

        ทีนี้หันมาทำความรู้จักเกี่ยวกับความหมายของชื่อคำว่า"งอบ"สักเล็กน้อย   งอบ หมายถึง อุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ใช้จักสานขึ้นมาจากโครงไม้ไผ่บุด้วยใบลาน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือกันแดดกันฝน ใช้สวมลงบนศรีษะ โดยเฉพาะชาวไร่ ชาวนาและชาวสวนใช้กันมากในสมัยก่อน ปัจจุบันยังมีให้เห็นได้

       แต่มีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าชวนคิดคือ มารดาของข้าพเจ้าให้รายละเอียดว่า การที่เรียกชื่อข้าพเจ้าว่า งอบ
เพราะ ข้าพเจ้าเป็นคนอ่อนแอขี้โรคนับตั้งแต่ยังเยาว์ ก็คงเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการขาดสารอาหารมากกว่า
     เพราะฐานะของชาวไร่ชาวนามาแต่กำเนิด ก็ใช่ว่าจะมั่งมีศรีสุขสักเท่าไหร่ อดๆอยากๆไปตามประสาจน มีอาหารก็คือข้าวสุกกับน้ำพริกพื้นบ้านเป็นหลัก แต่จะว่าไปเมื่อก่อนกุ้งหอยปูปลาก็ชุกชุมกาได้ง่ายโปรตีนทั้งนั้น เข้าใจง่ายๆว่า
     เรื่องอาหารการกินไม่ค่อยพิถีพิถันสักเท่าไหร่ จึงกลายเป็นเด็กหัวโตก้นปอด สามวันดีสี่วันไข้ โดยทั่วไปเรียกว่า โรคซางตาลขโมย  

    หมอชาวบ้านที่มีชื่อเสียงสมัยนั้นก็คือ หมอดิษฐ์ เก่งเรื่องยาหม้อ  ส่วน หมอก้อน เก่งเรื่องกวาดคอแก้ไอ ไข้ตัวร้อน   ยังมีหม้อนุ่มก็เป็นหมอพื้นๆกระเดียดไปทางยาหม้อ หมอทั้งสามนี้มีฝีมือค่นข้างน่าเชื่อถือนัก ในเรื่องการรักษาโรคแบบโบราณ  ส่วนใหญ่มักจะให้การรักษาเพียงครั้งเดียวก็หาย(ส่วนจะหายจากโรคหรือ หายไปจากโลก ก็สุดแล้วแต่ดวง) เพราะไม่มีหมอสมัยใหม่ในพื้นที่เลย

    และเท่าที่เคยผ่านหมอก้อนกวาดคอ โอ้โฮ หมอแกเป็นคนผอมสูง นิ้วมือยาว ล้วงถึงลิ้นไก่เลย แล้วแกล้วงคอแต่ละครั้ง ตัวยาที่ผสมกันเพื่อกวาดคอ ส่วนใหญ่มี ดีปลี ต้นตะไคร้ หรือรากหนามผักขมเผาเจือด้วยเกลือสมุทร น้ำมะนาว บางทีแถมพริกขี้หนูด้วย ทั้งเปรี้ยว เค็ม เผ็ด สารพัดรส
 
อะไรไม่น่ากลัวเท่าตอนที่หมอล้วงคือลึกก็ลึกเพราะ นิ้วแกยาวแล้วยังใช้ปลายนิ้วควานไปบี้ตามเม็ดตุ่มที่ขึ้นในลำคอ หายใจหายคอไม่ค่อยออก พาลจะขาดใจเสียให้ได้ เรียกว่าขนาดตากลับแล้วยังไม่ชักนิ้วออกเลย
   ส่วนใหญ่เด็กๆจะกลัวหมอ ภายหลังพอมีอาการป่วย ได้ยินคนบอกว่าหม้อก้อนมา เด็กที่กำลังไออยู่ ยังหายไอเป็นปลิดทิ้งเลย พอหมอผ่านไปจึงไอต่อ นี่แหละเรียกว่า รักษาครั้งแรกหายเลย

   ส่วนหมอดิษฐ์และหมอนุ่ม ก็ลักษณะคล้ายๆกัน ยาถ่าย ยาลุ และจะมี ยาบำรุงตามมา แล้วเรียกว่า ถ่ายหมดไส้หมดพุงเลยเพราะ ตัวยามีแต่สมุนไพรจำพวกขับถ่าย เช่น ฝักคูน ใบระกา แสมสาร

 ถ้าปวดหัวตัวร้อนเล็กๆน้อยๆก็ยาเขียวละลายน้ำกินก็หาย กว่าจะผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้แต่ละปีก็ยากพอสมควร

     พออายุย่างเข้า8-9ขวบ มารดาก็เลยพาไปถวายเป็นลูกบุญธรรมหลวงพ่อกัน เจ้าอาวาสวัดเขาแก้ว เผื่อจะมีชีวิตรอดถึงโตเป็นหนุ่มบ้างตามความดิดของมารดา  โดยจะต้องพาไปพบหลวงพ่อเพื่อเป่าหัวบ่อยๆ ในยามเมื่อเมื่อถึงวันพระ8ค่ำ,15ค่ำแล้วแต่จะว่าง ก็เป็นวิธีหนึ่งของการดำรงชีวิต


 





โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Satun Unesco Global Geopark อุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูล สถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก แห่งแรกของไทย

masjid in satun มัสยิดธรรมประทีปห้วยน้ำดำ